บ้านทรุดเกิดจากสาเหตุอะไร?

บ้านทรุดตัวเกิดจากสาเหตุอะไร?

การทรุดของบ้านนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ แต่ส่วนมากมักมาจากเสาเข็มและพื้นดินที่ใช้ในการสร้างบ้าน สาเหตุหลักที่เรามักเจอกันบ่อยๆได้แก่
• ความยาวของเสาเข็มไม่เพียงพอ
โดยปกติในการสร้างบ้านเราควรลงเสาเข็มให้ยาวลึกถึงชั้นดินแข็ง เพราะจะได้มีแรงต้านช่วยพยุงให้บ้านมีความแข็งแรง แต่สำหรับบ้านใครที่มีเสาเข็มยาวไม่ถึงชั้นดินแข็ง ก็แปลว่าน้ำหนักของบ้านทั้งหลังมีเพียงแรงเสียดทานของดินชั้นบนรองรับเท่านั้น ต้องทำใจว่าอาจจะเกิดการทรุดตัวอย่างรวดเร็วในอนาคต สำหรับความลึกของเสาเข็มว่าต้องลงเท่าใด จะขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ บางแห่งที่มีชั้นดินแข็งมากๆ เช่นบนภูเขาหรือบริเวณภาคเหนือ เราอาจจะไม่ต้องลงเสาเข็มลึกมากหรือใช้แค่ฐานรากแบบไม่ต้องมีเสาเข็มเลยก็ได้
• ปลายของเสาเข็มอยู่บนดินต่างชนิดกัน
หมายความว่าบ้านหลังเดียวกันอาจจะมีระดับของชั้นดินไม่เท่ากันหรืออยู่ในดินคนละประเภทกัน หากเราออกแบบหรือใช้เสาเข็มประเภทเดียวกันเท่ากันทั้งหมดเลย ทำให้บ้านทรุดตัวไม่เท่ากัน อาจจะนำไปสู่ทรุดหรือแตกร้าวของตัวบ้านได้ วิธีที่แนะนำคือควรเจาะสำรวจดิน เป็นการเจาะหรือขุดดินเพียงเล็กน้อย เพื่อต้องการทราบชนิดของดิน การเรียงตัวของชั้นดิน ระดับน้ำใต้ดินและอื่นๆ เพื่อดูความแข็งแรงของดินและใช้คำนวณหาการทรุดตัวของสิ่งก่อสร้าง เพื่อที่จะได้ทำการออกแบบฐานรากและเสาเข็มให้เหมาะสม
 
 
• เสาเข็มแตกหัก
เมื่อเสาเข็มชำรุดจะไม่สามารถถ่ายน้ำหนักไปยังดินแข็งได้ ทำให้บ้านเกิดการทรุดเอียงซึ่งการทรุดในลักษณะนี้จะไม่ค่อยเห็นรอยแตกที่โครงสร้างส่วนบน แต่จะพบรอบแตกที่ฐานรากหรือเสาตอม่อ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียวในการซ่อมแซม
 
• เสาเข็มรับน้ำหนักได้ไม่พอ
การเลือกใช้เสาเข็มไม่ได้ดูเฉพาะความยาวเพียงอย่างเดียวนะคะ หากเราไม่ได้ทำการสำรวจสภาพชั้นดิน อาจจะทำให้เกิดความผิดพลาดได้ เช่น เจอดินที่เพิ่งถมมาใหม่ๆยังไม่แน่นตัว หรือคำนวณการใช้เสาเข็มมาไม่เพียงพอเป็นต้น

วิธีการสังเกตบ้านทรุดตัวเบื้องต้น

– ผนังบ้านเป็นรอยร้าวแนวยาว
– พื้นบ้านแยกออกจากกันจนเห็นได้ชัด
– ผนังแยกออกจากโครงสร้างหลัก
– ผนัง และพื้นเกิดอาการเอียง
วิธีแก้ปัญหาบ้านทรุดตัว
- ประเมิณความเสียหายตามหลักวิศวกรรม เพื่อหา Solution ที่เหมาะสมกับ
- เนื่องจากเกิดการวิบัติของโครงสร้างที่เสี่ยงจะเป็นอันตราย จึงจำเป็นต้องรื้อถอนในจุดที่ได้รับผลกระทบ แล้วเสริมฐานรากใหม่ที่สอดคล้องกับการคำนวณวิเคราะห์ตามหลักวิศวกรรม
- ปรับแบบฐานราก และเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างอาคารในจุดที่ได้รับผลกระทบตามหลักวิศวกรรม